Image from Google |
ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า
พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์มี 3 องค์ เรียกว่า “ตรีมูรติ” ได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร
และพระพรหม ถือกันว่าพระพรหมนั้นเป็นผู้สร้าง เป็น “สยมภู” คือเกิดเองได้ เรื่องการกำเนิดพระพรหมนั้นมีตำนานเล่าไว้มากมายหลายเรื่อง
ฝ่ายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดก็เล่าว่า
ตอนที่โลกว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุนั้น
พระเวทย์ทั้งหลายได้มาชุมนุมกันเกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าขึ้นองค์หนึ่ง
มีพระนามว่าพระปรเมศวรหรือพระศิวะ พระศิวะเอาพระหัตถ์ลูบพระอุระ
แล้วสะบัดออกไปเบื้องหน้าพระพักตร์ ก็บังเกิดเป็นพระอุมาเทวี
พอเอาพระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวาก็บังเกิดเป็นพระนารายณ์
และเมื่อเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระหัตถ์ซ้ายก็บังเกิดเป็นพระพรหมขึ้นมามีหน้าที่สร้างโลกสร้างมนุษย์
พรหมจึงมีกำเนิดมาจากพระศิวะ
ส่วนฝ่ายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุดก็มีตำนานเล่าว่า
พระพรหมเกิดอยู่ในดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากสะดือของพระวิษณุขณะที่พระองค์หลับอยู่บนหลังพระยาอนันตนาคราชที่เกษียรสมุทร
พรหมจึงมีกำเนิดมาจากพระวิษณุ
ส่วนอีกตำนานหนึ่งก็เล่าว่า
เมื่อครั้งที่ยังไม่มีโลกมีแต่ความมืดมิด พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะ “สยมภู” คือกำเนิดขึ้นมาเองได้ปรากฏขึ้นแล้วสร้างน้ำ
หว่านพืชลงในน้ำ จากพืชก็กำเนิดเป็นไข่ทองเรียกว่าหิรัณยครรภ์
ภายในไข่นั้นคือพระพรหม ไข่นั้นคือจักรวาลกับโลก เวลาผ่านไปหลายกัปกัลป์
ไข่ก็แตกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งลอยขึ้นไปเป็นท้องฟ้า
อีกซีกหนึ่งลงต่ำกลายเป็นแผ่นดิน จากนั้นพระพรหมก็ก่อเกิดรูปกายขึ้น
และเนรมิตสตรีเพศในยาม “สรัสวดี” ซึ่งต่อมากลายเป็นมเหสีและร่วมกันสร้างสัตว์
พืชพันธุ์ เทวดา อสูร และมนุษย์ขึ้นมา
Image from Google |
เรื่องราวของพระพรหมได้ผสมผสานเล่าขาน
สืบต่อกันมา
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งมีประวัติกล่าวไว้ในหนังสือ
และคัมภีร์ของศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์
การกำเนิดพระพรหมของพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจาก
พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทพยดา
พระราชา พราหมณ์ปุโรหิต พระโยคี
พระฤาษี ชีพราหมณ์ พระภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ และมีความเพียรกล้า ศรัทธาปรารถนาเพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส
จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ จนสำเร็จฌานในขั้นต่าง ๆ ที่ได้บรรลุแล้วนั้น เมื่อสิ้นอายุขัย จะนำตนไปเกิดยังเทวโลก และพรหมโลก
ครั้นเมื่อไปเกิดยังพรหมโลกแล้ว
ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ
ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับโลกภายนอก
ไม่ต้องขับถ่ายอุจจาระ
หรือปัสสาวะอันลามก มีแต่ความสุขสบาย เสวยพรหมสมบัติ วิมารทิพย์
ปราสาททิพย์ กายทิพย์ หูทิพย์
ตาทิพย์ เสวยอาหารทิพย์
เป็นเวลานานแสนนานตราบสิ้นอายุขัยของพระพรหม ในพรหมโลกสรีระร่างกายของพระพรหม เป็นรูปทิพย์ที่งามสง่า อวัยวะร่างกาย
ข้อศอก แขน ขา
เข่า ไหล่ ไม่มีรอยต่อ
มีลักษณะกลมเกลี้ยงสวยงาม
มีรัศมีกายรุ่งโรจน์ประภัสสร
เจิดจ้างดงามยิ่งกว่า แสงพระอาทิตย์ และพระจันทร์
สำหรับท้าวมหาพรหมณ์
คือพระพรหมที่สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่
3 มหาพรหมาภูมิ ซึ่งเป็นประมุขแห่งพระพรหมในชั้นปฐมฌาน
มหาพรหมาภูมิมีพระพรหมอยู่เป็นจำนวนนับล้านองค์
แต่ท้าวมหาพรหมที่รู้จักกันในศาสนาพราหมณ์นั้น มีเพียงไม่กี่องค์ ได้แก่
พระพรหมธาดา ท้าวกบิลพรหม ท้าวพกาพรหม
เป็นต้น
ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
และมีอานุภาพมากมายนานาประการ
การสร้าง เทวรูปของท้าวมหาพรหมณ์ นิยมสร้างสี่หน้า สี่มือ
หรือแปดหน้า แปดมือ ถือของต่าง ๆ
กันเช่น ช้อนตักไขเนยลงในไฟ หม้อน้ำสำหรับใส่น้ำจากแม่น้ำคงคา คัมภีร์พระเวท
เทพศาสตรา คทาอาญาสิทธิ์ ศรและลูกธนู
พระศอคล้องประคำ พระวรกายสีแดงหรือสีขาว ปัจจุบันนิยมสร้างมีกายเป็นสีทอง
มีม้าหรือหงส์เป็นพาหนะการกำหนดอายุพระพรหมในพรหมโลกแต่ละชั้นไม่เท่ากัน มีอายุยืนยาวนานเป็นกัลป์ อสงไขยกัลป์
อันตรกัลป์ ภัทรกัลป์ และมหากัลป์
แต่ได้ประมาณเอาไว้ว่า 1 กัลป์เท่ากับ 12,000,000 ปีสวรรค์ และ
1 ปีสวรรค์ เท่ากับ
360 ปีมนุษย์โลก
พระพรหมนั้นมีน้ำพระทัยเยือกเย็น
มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมด้วยมโนจริยา 4 ประการ คือความ เมตตา กรุณา มุทิตา
อุเบกขา ซึ่งตรงกับหลักคำสอนเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ในพุทธศาสนา นอกจากท่าน จะสร้างโลกแล้ว
ยังเป็นผู้สร้างสวรรค์และมนุษย์อีกด้วย
พระพรหมทรงหงส์เป็นพาหนะ
มีวรกายเป็นสีแดง มี 4 กร
ถือธารพระกรไม้เท้า ช้อน หม้อ และคัมภีร์ มีประคำคล้องพระศอ แต่เดิมนั้นมี 5 เศียร แต่ละเศียรหันไปยังทิศทั้งสี่
เศียรที่ห้าอยู่บนยอด เรียกว่า “พรหมปัญจมุข”
พระพรหม
คือ พระเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคน
พระพรหมจึงเป็นผู้รู้ความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิต
เหตุการณ์สำคัญของโลกล้วนอยู่ในสายตาของพระพรหม
พระพรหมคือมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามตรีมูรติ
ทรงรับฟังคำอธิษฐานของผู้ศรัทธาเสมอ ผู้บูชาพระพรหมและทำความดี
จะได้รับการบันดาลพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา
พระพรหม
มีพระนามหลากหลาย เช่น พระพรหมมา พระพรหมา พระพรหมธาดา ท้าวมหาพรหม ปชาบดี อาทิกวี
อาตมภู โลกาธิปดี ฯลฯ
พระพรหม
เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ ทรงมีอานุภาพในการลิขิตชะตาชีวิต
โดยควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎแห่งกรรม พระพรหมจึงเป็นผู้คุ้มครองคนดี
และลงโทษผู้กระทำบาป ผู้มีกิเลสตัณหา
จะถูกพระพรหมลิขิตให้ชีวิตมีแต่ความลำบากยากเข็ญ ผู้มีจิตใจเอื้ออารีย์ต่อผู้อื่น
พระพรหมจะบันดาลให้มีความสุขและสมบูรณ์ในชีวิต
การเสียสละต่อส่วนรวมคือการถวายความจงรักภักดีต่อพระพรหม พระพรหมจะบันดาลพรให้ผู้เสียสละนั้นมีแต่ความสุขตลอดกาล
ผู้ศรัทธาในพระพรหม
เมื่อสวดบูชาต่อพระองค์แล้ว พระองค์จะประทานปัญญาในการประกอบอาชีพ
ปกป้องให้ห่างจากศัตรู ประทานความแข็งแรง ความรู้แจ้ง ชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ
และมอบความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณแก่ผู้นั้น
Image from Google |
พระพรหมทรงโปรดความเงียบสงบ
ไม่วุ่นวาย มีพระทัยอ่อนโยน รักสรรพชีวิตที่พระองค์สร้างมาเสมอ
เมื่อผู้ศรัทธาต้องการสักการะ พระพรหมก็โปรดการจัดการอย่างเรียบง่าย มีความตั้งใจ
แต่ไม่ใหญ่โตวุ่นวาย พระองค์โปรดให้ลูกศิษย์สวดภาวนาว่า "สัก ชิต เอกัม
พรหมมา" หรือ "โอม อาฮัม พรหมมา อัสมิ" เป็นร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนๆ
เที่ยว และให้นั่งสมาธิตั้งจิตเพ่งไปที่พระองค์
การที่ผู้ศรัทธาได้อยู่กับพระพรหมตามลำพัง นั่งสมาธิและสวดภาวนาให้นานที่สุด
พระองค์จะโปรดมาก เพราะพระองค์ทรงสอนว่า การนั่งอยู่กับที่และระลึกถึงพระองค์
บริโภคมังสวิรัติ ไม่ออกไปสร้างสิ่งเดือดร้อนให้ผู้อื่น
คือการตอบแทนพระคุณพระพรหมได้ดีที่สุด
ในคติพุทธศาสนา พระพรหม
เป็นชาวสวรรค์ชั้นสูงขั้นหนึ่งที่สูงกว่าเทวดาทั่วไป เรียกว่า "พรหม"
พระพรหมยังอยู่ในกามาวจรภพ มีการวนเวียนว่ายตายเกิด
อยู่ในสวรรค์ที่เรียกว่าชั้นพรหม (พรหมภูมิ)
พระพรหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พรหมที่มีรูป เรียกว่า
"รูปพรหม" มีทั้งหมด 16 ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป เรียกว่า
"อรูปพรหม" มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม
รูปพรหม 16 ชั้น
1. พรหมปาริสัชชาภูมิ
2. พรหมปุโรหิตาภูมิ
3. มหาพรหมาภูมิ
4. ปริตตาภาภูมิ
5. อัปปมาณาภาภูมิ
6. อาภัสราภูมิ
7. ปริตตสุภาภูมิ
8. อัปปมาณสุภาภูมิ
9. สุภกิณหาภูมิ
10. เวหัปผลาภูมิ
11. อสัญญีสัตตาภูมิ
12. อวิหาสุทธาวาสพรหมภูมิ
13. อตัปปาสุทธาวาสพรหมภูมิ
14. สุทัสสาสุทธาวาสพรหมภูมิ
15. สุทัสสีสุทธาวาสพรหมภูมิ
16. อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมิ
อรูปพรหม 4 ชั้น
1. อากาสานัญจายตนภูมิ
2. วิญญาณัญจายตนภูมิ
3. อากิญจัญญายตนภูมิ
4. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
Image from Google |
"พระพรหม" ในทางพระพุทธศาสนา
เป็น "พระพรหมผู้วิเศษ" ล้วนแต่บุรุษเพศทั้งสิ้น
ไม่ต้องกินไม่ต้องบริโภคอาหาร เหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยว่าแช่มชื่นอิ่มเอิบโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร
จึงไม่ต้องมีการถ่ายคูตรมูถ คืออุจจาระ ปัสสาวะอันลามกเหม็นร้าย
สรีระร่างกายหน้าตาแห่งบรรดาพระพรหมนั้น มีสัณฐานกลมเกลี้ยงสวยงามนัก
มีรัศมีออกจากกายตัวเลื่อม ประภัสสรรุ่งเรืองกว่ารัศมีพระอาทิตย์ และพระจันทร์ หลายพันเท่า
เพียงแต่หัตถ์หนึ่งเล่าอันพระพรหมทั้งหลายเหยียดยื่นออกไปหวังจะให้ส่อง
รัศมีไปทั่วห้วงจักรวาลก็ย่อมจักทำได้ อวัยวะร่างกายที่ต่อกัน คือ หัวเข่าก็ดี
แขนก็ดี มีสัณฐานกลมเกลี้ยงเรียบงามนัก จักได้เห็นที่ต่อกันนั้นหามิได้
เกศเกล้าแห่งพระพรหมทั้งหลายนั้นงามนัก ปรากฏโดยมากมีศีรษะประดับด้วยชฎา
สถิตย์เสวยสุขพรหมสมบัติอยู่ ณ พรหมภูมิที่ตนอุบัติตราบจน กว่าจะสิ้นอายุ
ซึ่งเป็นเวลานานแสนนาน
Image from Google |
พรหมอุบัติ (ในทางพระพุทธศาสนา)
พระพรหม เกิดจากท่านผู้มีความเพียรกล้า ทรงไว้ซึ่งปัญญาเกินสามัญชน
ปรารถนาจะพ้นจากกิเลสานุสัย เพราะเห็นว่ามีโทษพาให้ ยุ่งนัก
ใคร่จักห้ามจิตมิให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลส จึงสู้อุตสาหะพยายามบำเพ็ญสมถภาวนา
ตามที่ท่านบุรพาจารย์สั่งสอนกันสืบๆ มา บางพวกเป็นชีป่าดาบส บางพวก ทรงพรตเป็นโยคี
ฤๅษีในสมัยที่มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ในโลก บางพวกก็เป็นพระภิกษุสามเณร ต่างบำเพ็ญสมถภาวนา
จนได้สำเร็จฌาน ครั้นถึงกาลกิริยาตายจากมนุษย์โลก จึงตรงไปอุบัติเกิดในพรหมวิมาน ณ
พรหมโลก อันเป็นแดนซึ่งมีแต่สุขไม่มีเรื่องกามเข้าไปเกี่ยวข้อง
ตามอำนาจฌานที่ได้บรรลุเป็นพระพรหมผู้วิเศษ
พระพรหมมีชื่อเรียกอื่นในภาษาไทยเช่น
จตุรพักตร์ (4 หน้า), ธาดาบดี (ผู้สร้าง), หงสรถ (มีหงส์เป็นพาหนะ), ปรเมษฐ์ (ผู้สูงสุด) เป็นต้น
ส่วนท้าวมหาพรหม ก็คือ
พระพรหมที่อยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมาภูมิ
เป็นประมุขแห่งพระพรหมในชั้นปฐมฌาน มหาพรหมาภูมิมีพระพรหมอยู่นับล้านองค์
แต่ท้าวมหาพรหมที่รู้จักกันในศาสนาพราหมณ์มีเพียงไม่กี่องค์ ได้แก่ พระพรหมธาดา
ท้าวกบิลพรหม ท้าวพกาพรหม ฯลฯ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอานุภาพมากมาย
ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง
จึงได้มีอิทธิพลสูงสุดต่อความเป็นมนุษย์
ถึงกับว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนเราต้องมีคำว่า “พรหม” ร่วมด้วยเสมอ เช่น พรหมลิขิต
พรหมชาติ พรหมทัณฑ์ พรหมจารี ฯลฯ
นี่จึงเป็นเหตุให้คนเราเกรงกลัวอำนาจเหนือธรรมชาติของพระพรหม
จึงเกิดการบนบานศาลกล่าวกับพระพรหมเพราะเชื่อว่าท่านบันดาลให้ความต้องการสำเร็จลงได้
ทำให้มีการบนและการแก้บนในเวลาต่อมา
นอกจากกำเนิดของพระพรหมแล้ว มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องบางส่วนของท้าวมหาพรหมกับพุทธศาสนาด้วย
มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีเทวดา 5 องค์ คือ สาตาคิรายักษ์ อสุรินทราหู
ท้าวมหาราช ท้าวสักกะ และท้าวมหาพรหม
ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ถึงกับเปล่งวาจาขึ้น โดย
สาตาคิรายักษ์เปล่งวาจาว่า นะโม อสุรินทราหู เปล่งวาจาว่า ตัสสะ
ท้าวมหาราชเปล่งวาจาว่า ภะคะวะโต ท้าวสักกะเปล่งวาจาว่า อะระหะโต
และท้าวมหาพรหมเปล่งวาจาว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ
จึงเกิดบทสวดมนต์นมัสการพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่บัดนั้น
Image from Google |
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เล่าถึงพระคุณของท้าวมหาพรหม
เรื่องมีอยู่ว่าพระวิปัสสีพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็เห็นควรแสดงธรรม
แต่ทรงคิดว่าธรรมที่บรรลุนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่ใช่วิสัย เป็นตรรกะ มีความละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้
ผู้คนทั่วไปคงเรียนรู้และเข้าใจหลัก ธรรมคำสอนด้วยความยากลำบาก ถ้าแสดงธรรมไป
ผู้อื่นไม่เข้าใจ ก็จะเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า ๆ แต่ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งได้ประนมมือกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงโปรดแสดงธรรม
โดยกล่าวว่า ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มี กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ในปัญญา
สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม
และเหล่าสัตว์ที่อาจจะรู้ธรรมได้นั้นก็ยังมีอยู่
พระพุทธองค์ฟังดังนั้นจึงได้ทรงแสดงธรรม
ด้วยเหตุนี้ จึงนับว่าท่านท้าวมหาพรหมมีพระคุณแก่มวลมนุษย์อยู่มากที่ทรงทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม
ดังนั้นเวลาไปงานศพก่อนพระจะสวดพระอภิธรรม จึงมีบทอาราธนาธรรม พรหมา จะโลกา
ธิปปะติ ฯลฯ นี่จึงเป็นที่มาของการอาราธนาธรรม
การบูชาพระพรหมควรจะมีวิธีการบูชาที่ถูกต้องเพราะองค์พระพรหมท่านมี
4 พักตร์ 4 ทิศ ฉะนั้นการบูชาก็ควรบูชาให้ครบทั้ง
4 พักตร์ 4 ทิศ วิธีการบูชาพระพรหม
เรามักจะไหว้ธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม
และบูชาเฉพาะพระพักตร์เดียว การไหว้แบบนี้ไม่ผิด
แต่เราจะได้พรเพียงเรื่องเดียวจากท่าน การที่จะได้รับพรครบทุกประการจำเป็นต้องมีวิธีการและต้องขอพรให้ถูกหน้าทุกพระพักตร์
อย่างแรกต้องเตรียมของในการสักการะพระพรหมให้ครบ 4 ธาตุก่อน
ธาตุที่ว่ามี ดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุดินคือดอกบัว
ธาตุน้ำคือน้ำสะอาด
ธาตุลมคือธูป
ธาตุไฟคือเทียน
การสักการะองค์พระพรหมเริ่มจากพระพักตร์แรกและ เวียนขวามือของเรา ซ้ายมือของท่านจนไปถึงหน้าสุดท้าย
การขอพรทุกพักตร์จะมีความหมายต่างกัน
พระพักตร์แรก
ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์แรกให้ขอเกี่ยวกับเรื่องการงาน
การเรียน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ ขอเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งงานและความก้าวหน้าในชีวิต
พระพักตร์ที่สอง
ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สองขอเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์
สังหาริมทรัพย์ เรื่องเงินๆทองๆ ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ อยากมีหรืออยากได้ให้ขอหน้านี้
รวมทั้งหนี้สินที่มีคนยืมไปแล้วไม่คืน
พระพักตร์ที่สาม
ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สามให้ขอเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ คู่สัญญา หุ้นส่วน
ความมั่นคงของชีวิต
พระพักตร์ที่สี่
ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด
พระพักตร์ที่สี่ขอเกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ
สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน เรื่องของบุตร
Image from Google |
คาถาบูชาองค์ท้าวมหาพรหม (ท่องนะโม 3 จบ)
โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะรัง พรหมเรสสะยัม
ภูปัสสะวะ วิษณุไวยะทานะโมโทติลูกปัม ทะระมายิกยานัง ยะไวยะลา
คะมุลัมสะทานันตะระวิมุสะตินัน
นะมัตเต นะมัตเตรจะ อะการัง
ตะโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมันตะรามา
กัตถะนารัมลา จะสะระวะปะติตัม สัมโภพะ
กลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ
หรือ คาถาอีกบทหนึ่งว่าดังนี้ (ท่องนะโม 3 จบ)
โอม
พรหมา ปฏิพาหายะ
ทุติยัมปิ พรหมา
ปฏิพาหายะ
ตะติยัมปิ พรหมา
ปฏิพาหายะ
เนื้อความเข้าใจง่าย และตั้งใจที่จะสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ ไม่ยาวจนเบื่อ และไม่สั้นจนไม่รู้เรื่อง ขอบคุณ
ตอบลบ