20.3.56

พญานาคราช มหาเทพผู้เลื่อมใสและศรัทธาพระพุทธศาสนา

Image from Google
พญานาคราช หรือพญานาค เป็นความเชื่อในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน แต่มีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นงูขนาดใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสู่จักรวาลอีกด้วย ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะมาจากอินเดีย ด้วยมีปกรณัมหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ นาคถือเป็นปรปักษ์ของครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี 7 สี เหมือนสีของรุ้ง และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจากพญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในน้ำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม
Image from Google
พญานาค เป็นราชาแห่งงู จัดเป็นเดรัจฉานด้วย เพราะมีลำตัวไปทางขวางและไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ก็จัดอยู่ฝ่ายสุคติภูมิ อยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา นาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่ คือ
Image from Google
ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง
ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว
ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง
ตระกูลกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ
พญานาคเกิดได้ทั้ง 4 แบบ คือ แบบโอปปาติกะเกิดแล้วโตทันที แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักหมม แบบชลาพุชะเกิดจากครรภ์ แบบอัณฑชะเกิดจากฟองไข่ พญานาคชั้นสูงเกิดแบบโอปปาติกะ เป็นชนชั้นปกครอง ที่อยู่ของพญานาคมีตั้งแต่ในแม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในอากาศ จนไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกพญานาคอยู่ ในการปกครองของท้าววิรูปักษ์ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศตะวันตก เหตุที่มาเกิดเป็นพญานาคเพราะทำบุญเจือด้วยราคะ
พิษแห่งนาค
1.ปูติมุขะ เป็นนาคมีพิษ   ถ้ากัดผู้ใดแล้วรอยแผลจะเปื่อยเน่า นำเหลืองไหล ถ้าไม่มียารักษาจะถึงแก่ความตายในเวลารวดเร็ว
2.กฎฐะมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วร่างกายเหยื่อจะแข็งทื่อไปทั้งตัว แขนขางอไม่ได้ และจะปวดอย่างแสนสาหัส และตายอย่างรวดเร็ว
3.อัคคิมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะเกิดอาการเร่าร้อนไปทั้งตัวดุจไฟเผา แผลจะมีลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้
4.สัตถะมุขะ เป็นนาคมีพิษ ถ้ากัดผู้ใดแล้วจะตายทันทีเหมือนถูกฟ้าผ่า
พญานาคสี่ประเภทนี้สามารถทำอันตรายได้อีกอย่างละ 4 วิธี คือ
1.ทัฏฐะวิสาพญานาค    เมื่อขบกัดแล้วจะเกิดพิษซ่านไปทั่วร่างกาย
2.ทิฏฐะวิสะพญานาค   ใช้วิธีมองแล้วพ่นพิษออกทางตา
3.ผุฏฐะวิสะพญานาค   ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษแผ่ซ่าน
4.วาตาวิสะพญานาค     มีพิษที่กาย จะแผ่พิษจากตัว
รวมว่ามีวิธีทำอันตรายได้ 16 วิธี แต่ใน 16 วิธีนี้ยังมีแบ่งภาคออกไปอีก 4 วิธี คือ
1.อาตตะวิสนะโฆระวิสะ   มีพิษแผ่ซ่านออกไปอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง
2.โฆระวิสนะอาคตะวิสะ   มีพิษรุนแรงมาก แต่พิษนั้นแผ่ออกไปช้าๆ
3.อาคตวิสนะโฆระวิสะ     มีพิษแผ่ซ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก
4.นะอาควิสนะโฆระวิสะ   มีพิษแผ่ช้าๆและไม่รุนแรง
รวมแล้วเป็นพญานาคทั้งหมด 256 ชนิด ในแต่ละชนิดยังแบ่งออกเป็นสองพวก  คือ
1.ชลชะพญานาค   เป็นนาคที่เกิดในน้ำ
2.ถลชะพญานาค   เป็นนาคที่เกิดบนบก

สรุปนาค มี 1,024 ชนิด
Image from Google (Tadatada)

             พญาอนันตนาคราช ( มหานาคะ มหานาคี เทวีนาคกลัยาณี มหานาคะ เทวา ชะยะ เตตี เตติ) พาหนะคู่บารมีของพระนารายณ์ คำว่าอนันตะมีความหมายว่า อนันต์ ไร้จุดจบ มีความยาวมากถึงขนาดว่าสามารถพันรอบโลกได้แต่เดิมพญานาคราชมีพระนามเดิมว่า พญาเศษะ นาคราช ทรงเป็นโอรสองค์แรกของพระกัศยปะ และ นางกัทรุ พญาอนันตนาคราช เป็นใหญ่ในเมืองบาดาลเป็นราชาแห่งนาคทั้งปวงในเกษียรสมุทรและได้ตามเสด็จพระนารยณ์เสมอ
            ราชาแห่งนาคทั้งมวลในตำนวนของฮินดู อนันตเศษ (อะ-นัน-ตะ-เส-สะ) หรือ อนันตนาคราช มีขนาดตัวเป็นอนันต์สมชื่อ เพราะเป็นผู้นอนอยู่ในเกษียรสมุทรและให้พระนารายณ์นอนบนหลัง บางตำนานเล่าว่าดาวนพเคราะห์นั้นก็ตั้งอยู่บนพังพานของอนันตนาคราช ส่วนหัวซึ่งมีตั้งแต่ห้าหัวถึงหนึ่งพันนั้นไม่พ่นพิษเหมือนนาคอื่นๆแต่เป็น เปลวไฟ และอนันตนาคราชก็จะร้องเพลงสรรเสิญบารมีของพระนารายณ์เป็นนิจ  ในตำนานเล่าว่าตอนที่เหล่านาคเล่นโกง ที่แม่ไปพนันกับนางวินตาซึ่งเป็นแม่ของพญาครุฑ (ทั้งคู่พนันสีม้าของพระอาทิตย์ เหล่านาคนั้นพ่นพิษใส่จนหางของม้าพระอาทิตย์เป็นสีดำ บ้างก็ว่าเหล่านาคตัวเล็กๆได้เลื้อยเข้าไปแทรกในขนสีขาวจนดูสีดำเป็นหย่อม) อนันตเศษนั้นรังเกียจบรรดาน้องๆเลยหนีไปจำศีลอยู่ตัวเดียว เวลาผ่านไปพระพรหมก็มาเจอเข้า เมื่อทราบว่าอนันตเศษไม่ชอบใจที่น้องโกงพนันเลยให้ไปนอนในเกษียรสมุทรเป็น เตียงให้พระนารายณ์ คำสาปที่ทำให้ครุฑจับนาคกินได้จึงไม่รวมถึงอนันตเศษด้วย
Image from Google
ตำนานที่ดุเดือดของอนัตเศษที่สุดนั้นกล่าวว่าครั้งหนึ่งอนันตเศษเคยโผล่หัว ขึ้นไปบนสวรรค์ (ไม่ใช่มุข เพราะตัวยาวจนไม่ต้องขึ้นไปทั้งตัว) และโอ้อวดกับเหล่าเทวดาว่า ในสามโลกนี้มีแต่ตรีมูรติเท่านั้นที่มีอำนาจเหนือตน หากใครไม่เชื่อแล้วก็จงมาประลองกำลังกันเถิด เหล่าเทวดากลัวหัวหด มีแต่พระพายที่กล้าพอ คิดว่าอย่างไรนาคตัวนี้ก็เป็นแค่ดิรัจฉาน การจะมาท้าตีท้าต่อยกับเทวดาจึงนับว่าโอหังนัก พระพายรับคำท้าว่าแล้วพญาอนันตนาคราชก็เอาตัวเองพันรอบภูเขาลูกหนึ่งไว้ บอกว่าให้พระพายลองทำลายภูเขานี้ดู พระพายนั้นใช้กำลังสร้างพายุรุนแรงหมายจะพัดทำลายภูเขานั้นให้ยับเยิน แต่อนันตเศษก็ขยายตัวเองให้ใหญ่ขึ้นแล้วแผ่พังพานป้องไว้ได้ทุกครั้ง สุดท้ายพระพายจึงทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าโจมตีโดยดึงเอาลมในตัวสัตว์โลกทั้งมวล มาใช้ด้วย แต่ก็ถูกอนันตเศษกลืนเข้าไปทั้งตัว ทีนี้เมื่อไม่มีพระพายแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายก็หายใจไม่ออก ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องมาบอกเตียงหลังโปรดให้คายพระพายออกมา อนัตนาคราชทำตาม ปรากฏว่าตอนที่อนันตนาคราชคายพระพายมานั้นก็บังเกิดเป็นลมรุนแรงพัดไปโดน ภูเขาที่พันไว้จนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งพระพายและอนันตนาคราชต่างก็นับถือในกำลังของกันและกัน เลยตกลงว่าการประลองครั้งนี้เป็นเสมอ บางที่ที่ค้นเจอ ยกบทนาคที่พันเขาพระสุเมรุไว้ตอนกวนเกษียรสมุทรให้อนันตนาคราชด้วย แต่จริงๆแล้วนาคที่รับบทนี้ก็ คือ พญาวาสุกี
องค์นาคาธิบดดีทั้ง 9 พระองค์ (แต่ละเศียร) นั้นคือกษัตริย์แห่งเมืองบาดาลที่ปกครองวังนาคินทร์ต่างๆ ซึ่งแต่ละพระองค์เป็นพญานาคที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลในธรรมแล้วทั้งสิ้น
Image from Google
        องค์นาคาธิบดีทั้ง 9 พระองค์ (แต่ละเศียร) มีพระนามดังต่อไปนี้
               1.พญาอนันตนาคราช
               2.พญามุจลินท์นาคราช
               3.พญาภุชงค์นาคราช
               4.พญาศรีสุทโธนาคราช
               5.พญาศรีสัตตนาคราช
               6.พญาเพชรภัทรนาคราชหรือพญาเกล็ดแก้วนาคราช
               7.พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช
               8.พญายัสมันนาคราช
               9.พญาครรตระศรีเทวานาคราช
Image from Google
ชาวฮินดูถือว่า นาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา ถ้าปีไหนนาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้
Image from Google
นาคมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ มีอิทธิฤทธิ์และมีชีวิตใกล้กับคน สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น นาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 จะต้องปรากฏรูปลักษณ์เป็นนาคเช่นเดิม คือ ขณะเกิด, ขณะลอกคราบ, ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับโดยไม่มีสติ และตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
Image from www.tanes.net
นาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง, ตะขาบ, คางคก, มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
นาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนๆกัน ชั้นสูงๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์

นาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วสมสู่กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลกจนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ
Image from Google
พญานาคกับตำนานในพระพุทธศาสนา เมื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์ เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
Image from Google
ความเชื่อดังกล่าวทำให้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา

ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น พญานาคราช ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือบั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอกแถนบนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา
Image from Google
ในสมัยพระพุทธเจ้า มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน
ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑ หรือสัตว์อื่นๆ บวชอีกเป็นอันขาด และก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม อันตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า" และจึงเรียกการบวชนี้ว่า "บวชนาค"

คาถาอัญเชิญพญานาค (ตั้งนะโม 3 จบ)
นะมามิ ลิละ สาเข ปัตถะ ละปะ ธัมเม สะคะลับตี สะเยตานาคะ ลาเชนะยะ ปิสะโตฯ

พระคาถาถวายการสักการะบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)
เอหิสังคัง ปิโยนาคะ สุปันนานัง มะยัง
หรือ
กายะ วาจะ จิตตัง อะหังวันทา (ชื่อพระนามอย่างเช่น องค์ วาสุกรีนาคราช,อนันตนาคราช,ภุชงค์นาคราช,นาคาธิบดีศรีสุทโธ,) วิสุทธิเทวาปูเชมิ ถ้าเป็นองค์นางพญานาคี ก็เปลี่ยนเป็น นางพญานาคิณีศรีปทุมมา วิสุทธิเทวีปูเชมิ (เช่น กายะ วาจะ จิตตัง อะหังวันทา วาสุกรีนาคราช วิสุทธิเทวาปูเชมิ) เป็นต้น               

คาถาบูชาพญานาคราชอีกบทหนึ่ง (ตั้งนะโม 3 จบ)
นาคเทวะ ปรี ตา ภวันติหะ คานติมาปโนติ เวน วิภี สัมศานติ โลก มา สาทยะ โมทเต ศาศติช สมาช
หรือกล่าวย่อ คือ (คัด สะ มะ อุ มะ) 9 จบ

คาถาบูชาพญานาค (คาถานี้ได้มาจากเสด็จปู่ยมโลก) ตั้ง นะโม 3 จบ

นะติตัง พญามะ นาคายะ อภินัง นาคา สาธุโนภันเต ยะมะ ยะมะ

Image from Google

กรณ์มงคล
KunTum
Korntaekhong




17.3.56

ไหว้สักการะท่านท้าวหิรัญพนาสูร (ท้าวฮู) พร้อมประวัติ ณ รพ.พระมงกุฎฯ


เข้มขลัง ดุดัน และศักดิ์สิทธิ์มากๆนะครับ ขอบอกไว้ก่อนเลย
เรื่องเทพหรือเทวดาที่ชื่อ ท้าวหิรัญพนาสูร" หรือ "ท้าวหิรัญฮู" นี้เล่ากันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เทพองค์นี้บางคนก็เล่าว่า เป็นอสูรที่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิ (ประพฤติในทางที่ดีงาม) คอยติดตามป้องกันภัยอันตรายไม่ให้มา กล้ำกรายรัชกาลที่ 6 และข้าราชบริพารที่อารักขา มีผู้เคยเห็นร่างท่านเป็นยักษ์ดุร้ายน่าเกรงขาม แต่ในยามปกติเล่ากันว่า "ท่านท้าวหิรัญฮู" ตนนี้เป็นเทพที่มีรูปงามเลยทีเดียว
ต้องขออภัย ภาพมืดไปนิดครับ ผมถ่ายจากสถานที่จริง เวลา 20.00 น. โดยประมาณครับ

 ชัดๆไปเลยนะครับ นี่แหละครับ ท้าวฮู
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงสื่อกับบรรดา "โอปปาติกะ" หรือ "วิญญาณ" ได้บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นผู้ที่ตายแล้วมาหา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาจึงดูคล้ายกับว่าพระองค์ทรงมี "สัมผัสที่ 6" ในทางเร้นลับไม่น้อย

ในเรื่องของ "ท้าวหิรัญพนาสูร" เทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสมัย ร.ศ.126 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองลพบุรี เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ในคืนวันเสด็จประพาสคืนหนึ่ง มีผู้ตามเสด็จท่านหนึ่งได้มีนิมิตฝันประหลาดเห็นชายหุ่นล่ำสันใหญ่โตมาหา บอกว่าชื่อ "หิรัญ" เป็นอสูรชาวป่า ที่มานี่จะมาบอกว่า ต่อแต่นี้เขาจะคอยตามเสด็จล้นเกล้าฯ ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ใด เขาจะคอยดูแลและระวังภัยไม่ให้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่านได้ เมื่อทรงทราบเหตุการณ์ในฝันจึงทรงมีพระราชดำรัสให้จุดเทียน จัดเตรียมอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ในป่าเมืองลพบุรีนั้นทันที และทุกครั้งไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปแห่งหนใด ในเวลาค่ำถึงยามเสวย พระองค์จะมีพระราชดำรัสให้จัดอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ทุกครั้งไป
ย้อนหลังไปในอดีตกาลที่ผ่านพ้นมาถึง 90 ปี ครั้งกระนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประพาส ณ มณฑลพายัพ โดยขบวนรถไฟหลวง ครั้นถึงจังหวัดนครสวรรค์ ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพระที่นั่งไปขึ้นบกที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยทรงม้าต่อไป ซึ่งในครั้งกระโน้น อุตรดิตถ์และดินแดนทางฝ่ายเหนือยังมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ อุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้นานาพรรณ แลเกลื่อนกล่นด้วยส่ำสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ปรากฏถนนหนทางดังเช่นปัจจุบัน ใช่เพียงหมู่สัตว์ร้ายและไข้ป่าที่ขึ้นชื่อลือชาว่าน่าหวาดสยองเป็นที่สุดเท่านั้น ความเงียบของไพรพฤกษ์ ความมืดครึ้มของดงดิบ ก็มีผลที่จะสั่นคลอนประสาทของผู้เป็นข้าราชบริพารที่ว่าแข็งให้หวั่นไหวได้ อย่างน่าประหลาด ภูตผีปีศาจเป็นเรื่องที่ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านาน ไม่อาจบอกได้ว่าเริ่มมาแต่ครั้งไหน ทว่ามันยังมีอิทธิพลเรื่อยมาทุกรุ่นทุกคนจนทุกวันนี้ ผู้ตามเสด็จในขบวนทั้งหลายก็ยังมีความเชื่ออย่างนี้เช่นกัน ด้วยความวิตกในจิตใจและความบอบบางของร่างกายอย่างชาววัง จึงได้มีผู้ล้มป่วยเป็นไข้ป่าอยู่เป็นอันมาก       วันหนึ่งของการเดินทาง เมื่อพลบค่ำ ข้าราชการที่ตามเสด็จไปด้วยก็จัดเตรียมพลับพลาที่ประทับในป่าถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ในราตรีนั้นเอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงสุบินนิมิตเห็นปรากฏแก่สายพระเนตร เป็นบุรุษชาติผู้หนึ่ง กอปรด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตแลกล้ามเนื้ออันล่ำสันบึกบึน มีผิวกายคล้ำเยี่ยงคนกรำแดด ที่ตัวนั้นมิได้สวมเสื้อ คงนุ่งเพียงผ้าเตี่ยวมีลายเชิงสีแดงคาดรัดเอวอย่างงดงาม ร่างกายล้วนเต็มไปด้วยอาภรณ์สูงค่าประดับองค์ บนศีรษะครอบไว้ด้วยชฎาทรงเทริดอันเป็นเครื่องบ่งถึง ภพภูมิที่ไม่ ธรรมดาบุรุษลึกลับผู้นั้นย่างกายเข้ามาอย่างองอาจผ่าเผย ทว่าแฝงไว้ด้วยความอ่อนน้อมในที เมื่อร่างอัศจรรย์มาหยุดยืนอยู่เบื้องปลายแท่นพระบรรทมแล้ว ก็ยกมือขึ้นประนม แล้วกราบบังคมทูลด้วยเสียงที่อ่อนโยนลุ่มลึกขึ้นว่า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อ ฮู เป็นอสูรชาวป่าซึ่งยึดมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์ จะขอถวายตัวเพื่อเป็นข้าราชบริพารคอยรับใช้ และติดตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่งเพื่อพิทักษ์เบื้องพระยุคลบาท มิให้ภยันตรายมากร้ำกรายพระองค์

บรรยากาศโดยรอบ ศาลท้าวหิรัญฮู ครับ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสดับฟังด้วยความสุขุมอย่างเข้าพระทัยเมื่ออสูรนามว่า ฮู” กล่าวจบลง พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสถามว่า แล้วจะให้ข้าพเจ้าปฏิบัติอย่างไรอสูรผู้มีป่าเป็นเรือนพักได้กราบบังคมทูลว่า ไม่ต้องมี อะไรมาก โปรดพระราชทานที่เฉพาะให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ และแบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยของพระองค์ ก็เพียงพอแล้วเมื่อจบ การสนทนา อสูรชาวป่าก็ถวายบังคมลาอันตรธานไปจากพลับพลาที่ประทับในราตรีนั้น ครั้นอรุณรุ่ง พระองค์ก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยอยู่ในพระราชหฤทัยอยู่เพียงพระองค์เดียวว่า เมื่อคืนนั้นจักทรงพระสุบินไปโดยธรรมดาของธาตุขันธุ์ หรือเป็นเทพนิมิตทว่าหลังจากนั้นไม่นาน บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไข้ป่ากันงอมแงมก็พากันหายจากอาการ เจ็บป่วยโดยสิ้นเชิง และผู้ที่ไม่เคยเป็นก็พากันรอดพ้นจากไข้ป่าแลภัยทั้งหลายทั้งปวง เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ดูเป็นการสมจริงดังคำอ้างของบุรุษผู้มีที่มาอันพิสดารได้กล่าวรับรองไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ประดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วย ก็เกิดพบเห็นชายรูปร่างใหญ่โตน่าเกรงขามคนหนึ่งมักยืนหรือนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ใกล้ ๆที่ประทับของพระองค์เสมอ ๆ บางครั้งก็เห็นเพียงคนเดียว แต่บางครั้งก็พากันเห็นพร้อมกันหลายคน ทำเอาข้าราชบริพารทั้งนั้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอกสั่นขวัญแขวน เพราะในกลุ่มผู้ที่ตามเสด็จทั้งหลายไม่มีชายรูปร่างหน้าตาอย่างนี้มาด้วยเลย เมื่อความข้อนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงทรงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาการเลิศรสไปสังเวยที่ริมป่าละเมาะใกล้กับพลับพลาที่ประทับนั้น เวลาเสวยก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระกระยาหารจาก เครื่องต้นไปเซ่นสรวงเสมอ และได้ถือเป็นพระราชกรณียกิจจนกระทั่งสิ้นรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ในขณะที่มีการค้นคว้าเรื่องราวทางภารตวิทยาของอินเดียหรืออนุทวีป ในฐานะเมืองขึ้นของจักรวรรดิอย่างคึกคัก ส่งผลให้พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องราวอันเร้นลับของอินเดียที่ถ่ายทอดผ่านคัมภีร์และปกรณัมต่างๆ และทรงเป็นต้นแบบในการรับเอาคติความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับ "ภารตะวิทยา"

พระมหานาคชินะวรฯ องค์พระประธานภายใน บริเวณศาลท้าวฮู อยู่ฝั่งซ้ายมือของท่านครับ
สวยงามมากนะครับ ขอบอกไว้ก่อนเลย



ร่มรื่น และดูสงบมากๆครับ จุดเด่นอยู่ตรงพญานาคราชที่ปรกพระเนี่ยแหละครับ เด่นชัดและร่มเย็นมากๆ
ในตำราอีกบทหนึ่งกล่าวว่า ท้าวหิรัญพนาสูรปรากฏขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า "หิรัญ" หมายถึงเงิน สีเงิน หรือบางแห่งแปลความหมายว่าทอง ส่วน "พนาสูร" เป็นคำเชื่อมกันระหว่าง "พนา" แปลว่า "ป่า" กับ "อสูร" ดังนั้น จึงสื่อความหมายถึงเทพาสูรผู้เป็นใหญ่แห่งป่า ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า "ท้าวหิรัญฮู" มีผู้อธิบายว่า "ฮู" มาจาก "Who" ในภาษาอังกฤษ เนื่องจากในปี พ.ศ.2449 ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งเส้นทางในสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าเขา ภยันตราย และโรคภัยไข้เจ็บ ขณะเมื่อทรงจะออกจากอุตรดิตถ์ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จรู้สึกหวั่นวิตกต่อ ภยันตราย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า "ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จ ณ ที่แห่งใดๆก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤๅอสูร อันเป็นสัมมาทิฏฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริวารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย"
นี่คือศาลเล็กครับ อีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันครับ มีน้ำมนต์ให้ด้วยนะครับ

รายละเอียดสวยงามไม่แพ้องค์จริงที่อยู่ด้านในครับ

ด้วยกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้บรรดาข้าราชบริพารขุนนางใหญ่น้อยอุ่นใจคลายความกังวล ในขณะเสด็จประพาสนั้นปรากฏมีข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเกิดนิมิตฝันเห็นบุรุษผู้หนึ่งร่างสูงใหญ่ล่ำสัน บอกนามว่า "หิรัญ" และแจ้งว่าตนเป็นอสูรแห่งป่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติจะคอยดูแลปกป้ององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารในขณะเดินทาง จึงทรงโปรดฯ ให้ตั้งเครื่องสังเวยในป่าริมพลับพลานั้น และเมื่อทรงเสวยก็จะแบ่งพระกระยาหารไปตั้งเป็นเครื่องเซ่นเสมอๆ ปรากฏว่าการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองพายัพครั้งนั้นปราศจากเภทภัย อันตราย ไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย และประสบความสำเร็จสมดังตั้งพระราชหฤทัยไว้ทุกประการ

ด้วยเหตุ ดังกล่าวการเสด็จประพาสในคราวต่อๆ มาข้าราชบริพารจึงทำพิธีอัญเชิญเทพาสูรที่ปรากฏในนิมิตตามเสด็จไปด้วยทุก ครั้ง และมีผู้คนมากมายพบเห็นบุรุษในลักษณาการอย่างโบราณ รูปร่างสูงใหญ่ นั่งบ้าง ยืนบ้าง ตามขบวนเสด็จไปด้วยเป็นอันมาก จนข่าวคราวร่ำลือถึงข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลต่างๆ ทำให้ผู้คนเลื่อมใส เคารพท้าวหิรัญพนาสูรกันแต่ครั้งนั้น และโปรดให้หล่อรูปท่านท้าวประดิษฐานไว้ประจำพระราชวังพญาไท "รูปท้าวหิรัญพนาสูร" จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนเคารพกราบไหว้ให้ป้องกันภยันตราย ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ร่มรื่นและดูสงบมากจนไม่น่าเชื่อว่ามีสถานที่แบบนี้ในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ว่าไหมครับ

คาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร (นะโม 3จบ)
ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม (สวด 9 จบ )
ผู้ใดสวดบูชาประจำ ป้องกันภัย มีโชคลาภ ค้าขายดี มีอำนาจ หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่มเย็นเป็นสุขตลอดกาล 
ขอปิดทริป ด้วยภาพบรรยากาศอันสวยสดงดงาม ของ รพ. พระมงกุฏครับ


กรณ์มงคล
KunTum
Korntaekhong


14.3.56

พญาครุฑ มหาเทพผู้ทรงอำนาจ

Image from Google
องค์พญาครุฑ

               นาคและครุฑต่างเป็นสัตว์ที่คู่กันมาตามตํานาน มีเรื่องราวเล่ากันว่าในขณะที่พระพรหมกําลังสร้างโลกอยู่นั้น พระทักษะปชาบดีได้ยกลูกสาวทั้ง13คนให้ ฤาษีกัสยปะเทพบิดร และเกิดบุตรหลานเป็นจํานวนมาก โดย นางกัทรุ หนึ่งในบรรดาลูกสาวทั้ง13คนนั้นได้เป็นมารดาของนาคและงู 1000 ตัว ส่วน นางวินตา ผู้เป็นน้องก็ได้ให้กําเนิดไข่2ฟองซึ่งต้องใช้เวลาฟักนานมาก นางวินตา ทนรอไม่ไหวจึงทุบไข่ฟองนึงให้แตกเป็นตัวออกมา บุตรของ นางวินตา เมื่อออกมาแล้วปรากฎว่าเป็นชายครึ่งนก แต่มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์เพราะออกมาจากไข่เร็วเกินไปดังนั้นบุตรชายครึ่งนกก็กราบทูลพระมารดาว่า ให้รอไข่อีกฟองแตกตัวออกมาโดยวิธีธรรมชาติ ก็จะได้บุตรชายครึ่งนกที่มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ จะมีบุญญาธิการและพละกําลังมหาศาลและจะคอยให้ความช่วยเหลือนางวินตาพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง พอกล่าวจบบุตรครึ่งนกตนแรกก็บินจากนางไป และไปเป็นสารถีให้พระสุริยะเทพ และมีนามที่เรียกกันว่า อรุณเทพบุตร ซึ่งถือเป็นพี่ชายของพญาครุฑ
Image from Google
  ต่อมานางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันว่าม้าที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เหล่าทวยเทพและอสูรกวนน้ำอมฤต ที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่บนสวรรค์นั้นมีหางสีอะไรถ้าใครแพ้ก็ต้องเป็นข้ารับใช้ตลอดไป นางวืนตาเลือกตอบว่าหางของม้านั้นเป็นสีขาว ส่วนนางกัทรุนั้นได้ตอบว่าเป็นสีดําแต่จริงๆแล้วนางกัทรุได้รู้แจ้งอยู่แล้วว่าหางของม้าเป็นสีขาวและนางกัทรุกลัวแพ้จึงได้คิดวางอุบายขึ้นโดยให้ลูกงูทั้ง 1000 ตัว นั้นเข้าไปพันอยู่รอบๆหางของม้าให้หางของม้าดูแลกลายเป็นสีดํา และเมื่อม้าตัวนั้นวิ่งมาถึงนางทั้ง 2 ก็เห็นหางของม้าเป็นสีดํา นางวินตา เลยจําต้องยอมแพ้และกลายเป็นข้ารับใช้ของนางกัทรุ
Image from Google
ในขณะนั้นเองไข่ฟองที่ 2 ของนางวินตาก็ได้ฟักตัวออกมา เมื่อแรกเกิด ร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกใด บรรดาขุนเขาก็ตกใจต้องปลาดหนีไปพร้อมกับพระพาย รัศมีพวยพุ่งออกมาจากกายสว่างไสวเป็นที่อัศจรรย์ มีลักษณะดั่งไฟไหม้ไปทั่วทั้งสี่ทิศ กระทําให้ทวยเทพต้องตกใจ สําคัญว่าเป็นพระอัคนี ต่างพากันมาบูชา เพื่อขอความคุ้มครอง หลังจากนั้นก็ได้ออกบินไปตามหานางวินตาผู้เป็นมารดาจนพบ นางวินตาจึงเล่าเรื่องที่ถูกนางกัทรุใช้กลโกงในการพนันจนต้องมาเป็นทาสรับใช้ พอทราบเรื่องเข้าก็ทำให้บุตรชายครึ่งนกของนางวินตา รู้สึกโกรธแค้นนางกัทรุและนาคเป็นอันมาก จึงทําให้บุตรชายครึ่งนกของนางวินตาเป็นศัตรูกับพวกนาคและงูกันมาตลอดเจอกันเมื่อไรเป็นต้องต่อสู้กัน แต่นางวินตาก็ได้ร้องขอและได้ห้ามไว้ไม่ให้ไปทำอะไรกับฝ่ายนางกัทรุและเหล่านาคอีก เพราะต้องการรักษาคำพูดและรักษาสัตย์ที่ได้ตกลงกันไว้นั้น บุตรชายครึ่งนกของนางวินตาก็ยอมอยู่กับนางวินตาและยอมเป็นข้ารับใช้นางกัทรุและบรรดาลูกๆของนางคือนาคกับงู 1000 ตัวด้วย
Image from Google
 ในที่สุดบุตรชายครึ่งนกของนางวินตาได้เข้าไปเจรจาขอแลกอิสรภาพจากนางกัทรุและเหล่านาคให้แก่มารดาของตน นางกัทรุจึงได้ขอแลกกับน้ำอมฤตเป็นการแลกกกับอิสระภาพของนางวินตา บุตรนางวินตาจึงบินไปหาน้ำอมฤตในทันที ในระหว่างทางก็ได้พบกับฤาษีกัสปะเทพบิดรผู้เป็นบิดา ซึ่งได้แนะนำให้บุตรนางวินตาบินไปยังทะเลสาปแห่งหนึ่งและจับกินเต่ายักษ์และช้างที่กำลังสู้กันเพื่อเพิ่มพลังในระหว่างการเดินทางไปหาน้ำอมฤต บุตรนางวินตาจึงได้จับสัตว์ทั้งสองกินแล้วออกบินต่อไป พอมาถึงต้นไทรต้นหนึ่งก็ได้แวะลงไปเกาะที่กิ่งต้นไทร ต้นไทรนี้มีฤาษี 4 ตนกำลังบำเพ็ญตบะอยู่ พอบินลงมาเกาะจึงทำให้กิ่งต้นไทรหัก บุตรนางวินตาจึงจับกิ่งไม้นั้นไว้เพื่อไม่ให้ฤาษีทั้ง 4 ตนตกลงไป ฤาษีทั้ง 4จึงเรียกบุตรนางวินตาว่า "ครุฑ" แปลว่า "ผู้แบก" หรือผู้ซึ่งยกของหนักได้ บุตรของนางวินตาจึงได้ชื่อว่า "พญาครุฑ" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
      เมื่อข่าวเรื่องพญาครุฑจะมาขโมยน้ำอมฤตรู้ถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงสั่งเพิ่มเหล่าบรรดากำลังทหารสวรรค์ให้เข้มแข็ง โดยชั้นนอกให้เหล่าเทวดาสวรรค์และทูตสวรรค์รักษาไว้ ให้หม้อน้ำอมฤตอยู่ตรงกลางกงจักรที่มีงูยักษ์ 2ตัวหมุนกงจักรและจุดไฟล้อมรอบเอาไว้เพื่อป้องกันและขัดขวาง เมื่อพญาครุฑเดินทางมาถึงก็ได้ต่อสู้กับบรรดาเหล่ากองทัพทหารสวรรค์อย่างดุเดือด และก็ใช้ปีกกระพือลมพัดเหล่าทหารเทวดาสวรรค์จนแตกพ่าย เหล่าบรรดาทหารสวรรค์ไม่สามารถต้านทานฤทธิ์เดชอํานาจของพญาครุฑได้จึงพ่ายแพ้และสูญสลายไปจนหมดสิ้น แล้วจึงบินพุ่งลงไปอมน้ำในมหาสมุทรมาพ่นดับไฟที่ลุกอยู่ล้อมรอบกงจักรนั้นเสีย และกินงูที่กำลังหมุนกงจักรอยู่นั้นอีกด้วย แล้วจึงเข้าชิงนำน้ำอมฤตกลับมาไถ่ตัวมารดา พระอินทร์จึงเข้าขัดขวางจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น พระอินทร์ใช้สายฟ้าฟาดเข้าที่บริเวณปีกของพญาครุฑเข้าอย่างจังแต่สายฟ้าของพระอินทร์มิอาจทําอันตรายต่อพญาครุฑได้เลย ในที่สุดพระอินทร์จึงยอมแพ้ต่อพญาครุฑ และพญาครุฑจึงได้มอบขนปีกให้กับพระอินทร์หนึ่งเส้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระอินทร์ และนับจากนั้นมาพญาครุฑจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ท้าวสุบรรณ"แปลว่า"ขนวิเศษ"
Image from Google
เรื่องราวการรบครั้งนั้นได้เลื่องลือล่วงรู้ไปถึงสามโลกธาตุ จนร้อนถึงพระนารายณ์ต้องลงมาช่วยปราบ จนเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างพระนารายณ์และพญาครุฑ ต่อสู้กันจนฟ้าลั่นแผ่นดินสะเทือนแต่ทั้งพระพระนารายณ์และพญาครุฑต่างก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ทั้งสองจึงยุติศึกและทำสัญญาเป็นไมตรีต่อกัน โดยพญาครุฑสัญญาที่จะรับเป็นพาหนะให้กับพระนารายณ์ตลอดไปและเป็นธงครุฑพ่าห์ สําหรับปักอยู่บนรถศึกของพระนารายณ์ ส่วนพระนารายณ์ก็ได้ให้พรความเป็นอมตะแก่พญาครุฑและไม่มีใครทำลายได้ เสร็จแล้วพญาครุฑจึงได้นำน้ำอมฤตไปไถ่ตัวนางวินตาผู้เป็นมารดาในเวลาต่อมา

พญาครุฑนั้นมีวิมานฉิมพลีอยู่ที่เชิงเขาไกรลาสและได้รับพรให้เป็นอมตะไม่มีศาสตราวุธใดๆสามารถทําร้ายได้ แม้แต่สายฟ้าของพระอินทร์ กล่าวว่าองค์พญาครุฑนั้นมีนามว่า ท้าวเวนไตย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวสุบรรณ ซึ่งหมายถึง(ขนวิเศษ) มีกายเป็นรัศมีสีทอง มีเดชอํานาจมากที่สุดในหมู่ครุฑทั้งหลาย อาศัยเกาะอยู่ตามต้นงิ้ว อาศัยผลงิ้วและนําดอกไม้จากตันงิ้วเป็นอาหารทิพย์ ลูกพญาครุฑจะโตขึ้นนับเวลาอายุเป็นข้างขึ้นข้างแรมตามจันทรคติ เติบโตด้วยบุญกุศลที่เคยทํามา หากลูกครุฑตนใดที่มีบุญญาธิการมามาก อํานาจจะบันดาลให้เกิดผลงิ้วทิพย์และน้ำหวานจากดอกไม้มาบําเรอลูกครุฑตนนั้นๆและลูกครุฑตนดังกล่าวจะจําเจริญวัยได้อย่างรวดเร็ว
Image from Google
   ครุฑเป็นสัตว์กึ่งโอปปาติกะ หรือกึ่งกายทิพย์กายสิทธิ์คล้าย ชาวลับแล และ พวกพญานาค อยู่อีกมิติหนึ่งจากโลกของเรา ผู้ที่สามารถจะพบเห็นพญาครุฑได้นั้นต้องเคยมีบุญร่วมกับเขามา จึงจะสามารถรับรู้ถึงกันและกันได้ เหมือนกับผู้ที่สามารถติดต่อกับพญานาคได้เช่นกันล้วนต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาต่อกันมาตั้งแต่อดีตกาลทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องสาธารณะที่จะรู้กันได้ทั่วกันไปเช่นสามัญ
Image from Google
 เรื่องของพญาครุฑเป็นเรื่องราวที่มีความอัศจรรย์ โลดโผนมาก แต่คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก ความเป็นจริงแล้วเรื่องราวของพญาครุฑเป็นเรื่องที่น่าศึกษามากเพราะทางฮินดูเขานับถือครุฑว่าเป็นเทพเจ้าพระองค์หนึ่งเลยทีเดียว แม้แต่ในไทยของเราเอง ทางไสยศาสตร์ก็ให้ความนับถือเกี่ยวกับครุฑนี้มาก ดูอย่างตราประจําแผ่นดินเองก็มีลักษณะเป็น ครุฑ จึงน่าสนใจว่า ครุฑ นั้นมีอานุภาพบางอย่างและน่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในอีกมิติหนึ่ง
   ครุฑ ถือเป็นสัตว์หิมพานต์อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่สัตว์สามัญธรรมดา เพราะพญาครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพกายสิทธิ์เป็นอมตะ ซึ่งมีอํานาจเทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้า ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์อย่างหนึ่ง ในเมืองไทยเรานับถือพระมหากษัตริย์ว่าเป็นสมมุติเทพเป็นองค์นารายณ์อวตารจึงมีการใช้ธงรูปครุฑและมีครุฑเป็นสัญลักษณ์ประจําแผ่นดิน สามารถพบเห็นครุฑได้จากเอกสารต่างๆของทางราชการและนับว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์ หากราชการผู้ที่ทําหน้าที่ผู้ใด มีความสุจริต จงรักภักดีต่อแผ่นดิน องค์พระมหากษัตริย์ และหน้าที่ของตัวเองแล้ว องค์พญาครุฑก็จะส่งพลังป้องกันภยันตราย ก่อให้เกิดความสุขในทุกด้าน และจะมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ
Image from Google
      ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ
ครุฑพอจะแบ่งได้ 5 ประเภทคือ
1.ตัวเป็นคนอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่มีปีก
2.ตัวเป็นคน หัวเป็นนก
3.ตัวเป็นคน หัวและขาเป็นนก
4.ตัวเป็นนก หัวเป็นคน
5.รูปร่างเหมือนนกทั้งตัว
                นอกจากนี้ยังมีเกร็ดความเชื่อว่าหากที่ใดมีอาถรรพ์แรงท่านให้นําเอาตราหรือสัญลักษณ์พญาครุฑไปติดหรือบูชาจะทําให้อาถรรพ์นั้นเสื่อมสลายไปในที่สุด ครุฑล้างอาถรรพ์ได้จึงเป็นที่เชื่อถือกันมาตลอดและได้รับความเคารพบูชาเป็นอย่างสูงเปรียบเสมียนเป็นองค์ตัวแทนแห่งพระประมุข ผู้ใดมีสัญลักษณ์ หรือรูปครุฑบูชาไว้ย่อมได้อานิสงฆ์มากเป็นล้นพ้น อาทิ มีความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและครอบครัวเป็นต้น
Image from Google
 คนโบราณยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ครุฑ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง มหาอํานาจ อย่างเด็กคนใดที่เกิดมาแล้วมีลักษณะปากคล้าย พญาครุฑ ท่านว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการมาเกิด ภายภาคหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต
ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น
1.กาศยปิ (บุตรแห่งพระกัศยปมุนี)
2.เวนไตย (บุตรแห่งนางวินตา)
3.สุบรรณ (ผู้มีปีกอันงาม)
4.ครุตมาน (เจ้าแห่งนก)
5.สิตามัน (ผู้มีหน้าสีขาว)
6.รักตปักษ์ (ผู้มีปีกสีแดง)
7.เศวตโรหิต (ผู้มีสีขาวและแดง)
8.สุวรรณกาย (ผู้มีกายสีทอง)
9.คคเนศวร (เจ้าแห่งอากาศ)
10.ขเคศวร (ผู้เป็นใหญ่แห่งนก)
11.นาคนาศนะ (ศัตรูแห่งนาค)
12.สุเรนทรชิต (ผู้ชนะพระอินทร์)
            เรื่องครุฑนี้คนโบราณจึงเชื่อถือกันมากแม้เครื่องรางของขลังที่เกี่ยวกับครุฑก็เป็นเครื่องรางที่มีความหมายมีอานุภาพมากมายมหาศาลโดดเด่นหลายประการ
         ครุฑ จัดเป็นเทวดาประเภทหนึ่ง อยู่ในการปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้านทิศใต้ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑเพราะทำบุญเจือด้วยโมหะ
       ครุฑ มีกำเนิดทั้ง 4 แบบ คือ โอปปาติกะ ชลาพุชะ อัณฑชะ และสังเสทชะ มีที่อยู่ตั้งแต่พื้นมนุษย์ ป่าหิมพานต์ ป่าไม้งิ้ว จนถึงชั้นจาตุมหาราชิกา (ป่าไม้งิ้วอยู่ชั้นที่สองรอบภูเขาสิเนรุ ส่วนชั้นที่หนึ่งอยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของพญานาค)
             ครุฑ ชั้นสูง เกิดแบบโอปปาติกะ มีขนสีทอง มีเครื่องประดับแบบเทพบุตรเทพธิดา มีชีวิตอยู่เหมือนเทวดา แปลงกายได้ จะเสวยสุทธาโภชน์ คืออาหารทิพย์แบบเทวดา
       ครุฑ บางประเภทผูกเวรกับนาค ก็จะกินนาคเป็นอาหาร บางประเภทก็กินผลไม้หรือเนื้อสัตว์ ครุฑบางประเภทผูกเวรกับสัตว์นรกในยมโลก ก็จะสมัครใจไปเป็นเจ้าหน้าที่ลงทัณฑ์สัตว์นรก     
            อํานาจพญาครุฑ สิทธิอํานาจพญาครุฑสัตว์กายสิทธิ์ที่ไม่มีผู้ใดสามารถฆ่าให้ตายได้มีอายุยืนเสมือนว่าเป็นอมตะนั้น นับเป็นเรื่องลี้ลับที่ผู้รู้พยายามค้นคว้าและเสาะหาที่มาแห่งพลังอํานาจดังกล่าว จนเกิดการสร้างเครื่องรางต่างๆขึ้น อํานาจพญาครุฑสามารถจําแนกได้ 8 ประการ โดยนับเอาอํานาจหลักๆได้ดังนี้คือ
1.เป็นมหาอํานาจอันยิ่งใหญ่ เป็นสิทธิอํานาจอันเฉียบขาด
2.สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสยได้ทั้งปวง ภูติผีปีศาจกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
3.เป็นสื่อนําความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน
4.ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยเป็นคงกระพัน
5.เป็นเมตตามหานิยม
6.นําความร่มเย็นเป็นสุขมาให้
7.ทํามาค้าขายดี เป็นสื่อนําโชคลาภนานาประการ
8.สัตว์ร้าย เขี้ยวงาสารพัด งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อสรพิษไม่กล้ากล้ำกรายเข้าใกล้ เพราะเกรงตบะบารมีขององค์พญาครุฑเป็นที่สุด
ส่วนพระคาถาของพญาครุฑนั้น ก็จะมีดังนี้
พระคาถานี้ให้นมัสการพระรัตนตรัยเสียก่อนด้วยนะโม 3 จบและท่องพระคาถานี้ก่อนออกเดินทางตั้งสติส่งจิตไปถึงพญาครุฑจะปลอดภัยทุกประการ โดยพระคาถาพญาครุฑท่านว่าดังนี้
โอมพญาครุฑจะเห็นผล หลีกไปให้พ้น พญาหนจะเดินทาง เคาะงอ เคาะงอ
ซึ่งเมื่อกล่าวพระคาถานี้งูพิษรวมไปจนถึงตะขาบแมงป่องและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ทั้งหลายจะหลบหนีไปสิ้น
Image from Google (sawasdiartist)
ส่วนอีกบทหนึ่งซึ่งถ้าหมั่นสวดบูชาทุกวันจะทำให้ร่ำรวยคือ (สวดนะโม 3 จบ) ก่อน แล้วว่าดังนี้
คะรุปิจะ กิติมันตัง มะอะอุ โอมพญาครุฑ รุจ รุจ แล้วรวย นะได้เงิน นะได้ทอง นะได้ทรัพย์ นะเมตตา นะล้างอาถรรพ์ นะเจริญมั่นคง อธิฐามิ (สวด 9 จบ)
หรืออีกนัยหนึ่งในการบูชาพญาครุฑประกอบกับพญาปักษาชาติอันมีฤทธิ์ทั้งหลายนั้น ท่านให้สักการะคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากนั้นให้ตั้งจิตระลึกถึงพญาครุฑท่าน ด้วยการทำสมาธิภาวนาเป็นสื่อถึงองค์พญาครุฑว่า ครุฑโธจนจิตสงบหรือระลึกชื่อ พญาวายุภักษ์ หรือ ท่องคำว่า การะวิโกอันเป็นคาถาหัวใจพญาการเวกก็ว่าได้ จากนั้นเมื่อเห็นว่าจิตสงบลงบังเกิดเสียงนกร้องระงม จากบริเวณที่มีนกอยู่ใกล้ ๆ จนบางครั้งอาจมีนกมาบินเวียนวนอยู่เป็นทักษิณาวัตรอย่างน่าอัศจรรย์ หรือมีฝูงนกมาทานอาหารที่เราเซ่นไหว้ อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเป็นศุภมงคลอย่างประเสริฐแล้ว สื่อให้เห็นว่าจิตเราพิธีกรรมเราที่ตั้งถึงองค์พญาครุฑและเหล่าพญาปักษาชาติทั้งหลายอันมีฤทธิ์นั้นท่านรับรู้แล้ว และท่านทั้งหลายจะช่วยเหลือเราอย่างสุดความสามารถโดยตลอดที่ท่านบริกรรมคาถาและระลึกถึงท่านนั่นเอง
Image from Google

กรณ์มงคล
KunTum
Korntaekhong