|
Image from Google |
พระคาถาชินบัญชร
พระคาถาชินบัญชรนี้กล่าวกันว่า
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) สุดยอดพระมหาเถราจารย์ ๕ แผ่นดิน
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ค้นพบจากคัมภีร์ใบลานที่ตกทอดมาจากประเทศศรีลังกา
ต้นฉบับเดิมจารึกเป็นภาษาสิงหล ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พิจารณาเห็นว่าเป็นคาถาที่มีความศักดิ์สิทธิ์
และทรงพลานุภาพมากสุดที่จะพรรณาได้ จึงนำมาดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาให้สมบรูณ์
ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ภาษาบาลี และมีความหมายที่ทำให้เกิดสิริมงคล
แก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ
คำว่า ชินบัญชร แปลว่า กรง หรือ
เกราะป้องกันภัยของพระพุทธเจ้า จากคำว่า ชิน หมายถึง พระชินสีห์ คือ พระพุทธเจ้า
บัญชร แปลว่า กรง หรือ เกราะ เนื้อหาในบทสวดชินบัญชรนั้น เป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้า
28 พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าตัณหังกร เป็นต้น
มาสถิตอยู่ในทุกอณูของร่างกาย
กำเนิดพระคาถาชินบัญชร ในประเทศไทย
โดยสมเด็จ (โต) และมีความเกี่ยวเนื่องกับท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญชะระ เมื่อครั้งนั้น สมเด็จ (โต)
ได้มีโอกาสเดินทางไปยัง จังหวัดกำแพงเพชร
ท่านได้เดินทางไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งซึ่งมีกรุโบราณ
ที่นั่นท่านได้พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งฝังอยู่ในเจดีย์หัก
สมเด็จจึงนำคัมภีร์ผูกนั้นมาเก็บไว้ที่กุฏิ ขณะนั้นสมเด็จ (โต)
ท่านมีจิตดำริที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อมอบให้แก่เจ้าปิยะ (ร.5) หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อเป็นสมบัติในยุคสมัยครองราชย์
ระหว่างครุ่นคิดสมเด็จ (โต)
ท่านก็ได้จำวัดหลับไป ในคืนนั้นราวๆประมาณตี 3 สมเด็จ (โต)
ได้นิมิตว่าท่านได้ตื่นขึ้น
เห็นชายหนุ่มรูปงามรูปหนึ่งมายืนอยู่ที่หัวนอนในชุดนุ่งขาวห่มขาว มีรูปลักษณ์งดงามหาที่ติมิได้เลย
สมเด็จ(โต) ท่านก็มองขึ้นตามกำหนดของจิต
ทราบว่าหนุ่มรูปงามนี้คงจะไม่ใช่มนุษย์อย่างแน่นอน
สมเด็จ (โต) จึงถามว่า
"ท่านผู้เจริญ การที่อาตมาได้มีโอกาสชมท่านนับว่าเป็นขวัญตาเหลือเกิน
ท่านมาในสถานที่แห่งนี้ มีสิ่งใดที่อาตมาปฏิบัติผิดพลาดในหลักพระพุทธศาสนาเล่า ? ขอให้ท่านจงประสาทประทานการสอนให้อาตมาแจ่มแจ้งในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธ
เจ้าเถิด" ชายหนุ่มผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นด้วยคำพูดที่เย็นกังวาน "ท่านโต
วิธีการที่ท่านดำเนินงานอยู่นี้คล้ายกับองค์สมณะโคดมอยู่
แต่การที่ท่านคิดจะสร้างพระให้เป็นสิ่งที่ระลึกของมนุษย์นั้น
สร้างแล้วสิ่งนั้นจะต้องดี ท่านโตเชื่อในเรื่องวิญญาณ
เพราะฉะนั้นควรจะปฏิบัติตามกฏของโลกวิญญาณ
คือวิธีการตั้งให้ถูกหลักการในการปลุกเสก"
|
Image from Google |
สมเด็จ(โต) ท่านจึงกล่าวว่า
"ท่านผู้เจริญ ขรัวโตนี้รับฟังความคิดเห็นของทุกคนหากแม้นท่านโปรดข้านี้
ขอได้โปรดบอกมาเถิด จะด่าว่าตักเตือนเราก็ไม่ว่า"
หนุ่มรูปงามผู้มีความสงบแลดูเป็นที่เลื่อมใส
จึงได้แนะวิธีการต่างๆในเรื่องทิศทางว่าทิศใดเป็นทิศมงคล ในการวาง เทียน ธูป
ดอกไม้ เทียนชัย ให้ตรงตามหลักของกฏระเบียบแห่งโลกวิญญาณ เรียกว่าเทวบัญญัติ
หรือพรหมบัญญัติ
ระหว่างนั้นสมเด็จ (โต)
ยังคุมสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ จึงได้ถามหนุ่มรูปงามนั้นว่า
"ท่านผู้รูปงามท่านนี้มีนามว่ากระไรหรอ?"
"หม่อมฉันนี้คือลูกศิษย์องค์พระโมคคัลลานะ
หม่อมฉันสำเร็จเป็นอรหันต์เมื่ออายุ 7 ขวบ
แต่ด้วยทิ้งสังขารก่อนอายุขัยจึงมิได้สู่แดนอรหันต์ คงยังอยู่ในแดนพรหมโลก
เพราะหม่อมฉันไม่อยากติดสตรีมิชอบสตรี เพราะสตรีทำลายพรหมจารีย์ของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจึงทิ้งสังขารก่อนอายุขัย ทางโลกวิญญาณถือว่าสิ้นก่อนอายุขัย จึงอยู่ในรูปพรหม
ถ้าท่านโตต้องการปรึกษาจากหม่อมฉัน
ก็จงระลึกถึง"ชินนะบัญชะระ" มานพหนุ่มรูปงามกล่าวต่อสมเด็จ (โต)
อย่างสำรวม
ต่อมาไม่ว่าสมเด็จ (โต)
จะทำงานสิ่งใด จึงมักระลึกถึง ท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญจะระทีไร
ท่านก็ปรากฎร่างทันที ช่วยเหลือสมเด็จ (โต) ประกอบพิธีต่างๆ
จึงทำให้เครื่องรางของขลังของสมเด็จ (โต) มีความศักดิ์สิทธิ์มาก สมเด็จ (โต)
ท่านปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นสุดท้าย 84,000 องค์ เรียกว่าสมเด็จอิทธิเจ
ท่านได้แปลคาถาจากคัมภีร์ ซึ่งท่านพบจากกรุวัดที่กำแพงเพชร ซึ่งคัมภีร์นั้นเขียนด้วยภาษาสิงหลได้ความบ้าง
มิได้ความบ้าง จับใจความได้ว่าเป็นชื่ออรหันต์แปดสิบองค์
จึงได้ตัดต่อแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อง่ายต่อการสวด จึงแปลใหม่ได้ความว่า
"คาถาชินบัญชร" ซึ่งตรงกับชื่อท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญชะระ สมเด็จ (โต)
ท่านจึงถือคาถาบทนี้เป็นการเทิดทูนท่านท้าวมหาพรหมชินนะบัญชะระ
ที่ท่านได้ช่วยเหลือตลอดมา
และพระคาถาบทนี้เป็นบทสวดในการนั่งปลุกเสกพระอิทธิเจรุ่นสุดท้าย ซึ่งสมเด็จ (โต)
ท่านนั่งปลุกเสกอยู่เพียงผู้เดียว
|
Image from Google |
ประวัติท้าวมหาพรหมชินนะบัญชะระ
ในอดีตกาลครั้งองค์สมณะโคดมเจ้า
ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ครานั้นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระพุทธองค์ คือ พระโมคคัลลานะ
ผู้เลิศในอิทธิฤทธิ์ และพระสารีบุตรผู้เลิศในปัญญา ณ แคว้นพาราณสี
ปรากฏเด็กน้อยนามว่า ชินนะ บุตรของมะติโตพราหมณ์ และนางยะถานาพราหมณ์ โคตรบัญจะระ
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแห่งองค์พระศาสดาแต่ครั้งเยาว์วัย ได้บวชเป็นสามเณร
และเป็นศิษย์ของพระโมคคัลลานะ สามเณรชินนะ ทรงภูมิปัญญาเป็นที่เฉลียดฉลาดเป็นยิ่ง
ศรัทธาในการบิณฑบาตอย่างสงบขยันหมั่นเพียรเป็นนิจ ครั้นอายุได้เพียง 7
ขวบก็สำเร็จอรหันต์
สามเณร ชินนะ บัญชะระ นับว่ามีรูปงาม
เสียงไพเราะ รู้พิธี เจ้าระเบียบ รอบคอบด้วยความสะอาด
ตั้งอยู่ในศีลาจาวัตรอันงดงาม ครั้นย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม
รูปร่างของท่านชินนะ บัญจะระ ยิ่งสวยสดงดงาม ผิวขาวละเอียดประดุจหยก
หน้าแดงระเรื่อสีชมพู คิ้วโก่งดังคันศร ไว้เกษาเกล้าจุก
เยื้องย่างสง่างามประดุจราชสีห์ ด้วยรูปงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของสตรีเพศ
จึงมีสตรีเพศต่างหลงใหลในตัวของท่านชินนะเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยท่านชินนะนั้นยึดพรหมจรรย์เป็นสรณะจึงมีแต่ความสงบ แล้ววันหนึ่ง
ขณะที่ท่านชินนะได้ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ได้มีหญิงผู้หนึ่งซึ่งแอบหลงรักท่านชินนะ
มิอาจยับยั้งใจเอาไว้ได้จึงได้โผผวาเข้ากอดท่านชินนะอย่างลืมตัว ท่านชินนะ
เห็นอาการของผู้หญิงคนนั้นกระทำแก่ท่านดังนี้ก็บังเกิดความสังเวชอย่างใหญ่หลวง
อันพรหมจรรย์ของท่านต้องมาแปดเปื้อนเสียดังนี้
ความยึดมั่นในพรหมจรรย์ของท่านต้องมาสะบั้นลง ท่านจึงดำริขึ้นว่า
"ตัวท่านนี้มีรูปงามเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรมแก่อิตถีเพศ
เป็นการสร้างบาปให้เกิดขึ้นด้วยมีกายรูปนี้เป็นเหตุ
จะมีสักเท่าใดกันหนอที่ปรารถนาล่วงพรหมจรรย์ของท่านเช่นผู้หญิงคนนี้" ท่านชินนะ คิดดังนี้ เห็นกายเป็นเหตุ
กายทำให้พรหมจรรย์จิตเสื่อมสลาย
กายก่ออกุศลจิตให้เกิดเป็นบาปกับอิตถีเพศผู้ยังมัวเมาในรูป
ท่านจึงถอดกายทิพย์ออกจากร่าง ทิ้งสังขารไว้เมื่อยังไม่ถึงกาล เมื่ออายุท่านเพียง
23 ปี 6 เดือน กายทิพย์ของท่านจึงไปได้แค่ชั้นพรหมโลก ท่านชินนะ
นับว่าเป็นผู้รอบรู้พิธีการต่างๆของโลกวิญญาณ
ท่านสามารถสวดพระคาถาคลายพระเวทย์ได้อย่างเยี่ยมยอดยามท่านสวดพระคาถาไม่ว่า
บนโลกหรือบนสวรรค์เสียงของท่านจะก้องกังวานไปทั่วนรกภูมิ
และสวรรค์สามสิบสามชั้นเทพพรหมได้ยินจะสะเทือนจิตออกจากสมาบัติหมดสิ้น เพื่อรับทราบพิธีการที่ท่านชินนะจัดขึ้น
ท่านชินนะบัญจะระ
มีกายละเอียดอยู่ในชั้นพรหม ขณะนี้เป็นชั้นหัวหน้ารูปพรหม 16 ชั้น ควบคุมทั้งหมด
ดังด้วยว่าสตรีเพศเป็นผู้ทำลายความบริสุทธิ์ของท่านเสียก่อนดังนี้
ทำให้ท่านละสังขารก่อนถึงกาลเวลาแห่งอายุดังนี้ จึงทำให้ท่านมีกำลังบุญอยู่ในแค่ชั้นพรหม
ดังนั้นท่านจึงต้องสร้างบุญในโลกมนุษย์เพื่อสร้างบุญบารมีนำท่านขึ้นไปสู่
แดนอรหันต์ ดังนั้น ชินบัญชรคาถา
หากท่านได้ภาวนาเป็นประจำสม่ำเสมอจักก่อให้เกิดผลดียิ่งแก่ผู้ภาวนา
เพราะท่านท้าวมหาพรหม ชินนะบัญจะระ จะทรงแผ่อำนาจลงมาช่วยท่านตลอดเวลาคิดหวังอะไรย่อมสมหวังยิ่ง
คุณลักษณะท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ
ยิ่งใหญ่...
เทพพรหมนั้นมีมากมายกว่าเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทร แต่มีพรหมที่มีตบะแรง พรหมที่มีอาวุโส
มีตำแหน่งในพรหมโลกนั้นมีไม่กี่องค์
ในพรหมโลกมีพระพรหม 4
องค์ที่เป็นใหญ่ในพรหมโลก มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับพรหมโลก คือ
1. ท้าวมหาพรหมชินะปัญชะระ
2. ท้าวอัปราพรหม
3. ท้าวจตุรพรหม
4. ท้าวมหาพรหมสามภพ
พระพรหมชินนะนี้
เป็นผู้พร้อมทุกอย่าง เขาเรียกว่าเป็นผู้สำเร็จสมัยองค์สมณโคดม
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรหมที่ไม่ขึ้นต่อพรหมโลก เขาเรียกว่าเป็นพรหมเอกเทศในพรหมโลกและมีบารมีแห่งฌานสมาบัติอันแก่กล้า
พรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมที่จะติดสินบนกับมนุษย์ ทรงไว้ด้วยความยุติธรรม
และเป็นผู้รอบรู้สรรพสิ่ง เรียกว่าเจ้าพิธีการของโลกวิญญาณ เป็นหัวหน้ารูปพรหมทั้ง
16 ชั้น เป็นพระพรหมที่เรียกว่าเทวดาผู้หญิงหลง พรหมผู้หญิงที่ฝึกยังไม่ถึงชั้น 5
พรหมชั้น 4 ยังติดกาเม ก็ยังหลง แต่มีกฎว่าผู้ใดถูกแม้แต่เท้าพระพรหมชินนะ
ผู้นั้นจะต้องถูกสาป
พรหมองค์นี้เป็นพรหมที่มติสามโลกเอื้อมไปไม่ถึง
ท่านเป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นคนมีวินัย รักความสะอาด สงบเสงี่ยม สุขุมคัมภีรภาพ
มีความเฉลียวฉลาด เป็นพรหมยิ่งใหญ่ของพรหมโลกที่ขจัดมารได้ทั่วภิภพ
ตอนออกรบจะพิชิตมาร หมายความว่าพรหมโลกเกิดเรื่องยุ่งก็ดี เทวโลกเกิดยุ่งก็ดี
ยมโลกเกิดยุ่งก็ดี มารโลกเกิดมาเรื่องมาก เขาช่วยกันไม่ได้
เขาก็ต้องมาเชิญองค์พระพรหมชินนะ พระพรหมชินนะจะออกศึกก็มีพาหนะ
พาหนะ... เท้าขวาเหยียบเต่า
ท้ายซ้ายเหยียบพญานาค เป็นพาหนะประจำตำแหน่ง
พาหนะเหล่านี้เป็นวิญญาณทิพย์เป็นวิญญาณที่จำศีล
เตรียมตัวเกิดเป็นสาวกในยุคพระศรีอริยเมตไตรย เต่ามีอายุยืนนานและแข็งแกร่ง
ท้าวขวาท่านหนักมาก ถ้าเหยียบพยานาครับรองว่าแบน ก็เอาเต่ามารอง เท้าซ้ายไม่ค่อยหนักก็เอาพญานาคเหยียบ
เต่านั้นถือว่าเป็นสัตว์บก พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ เหยียบพญานาคหมายถึงเหยียบสมุทร
แสดงว่าทั้งบกทั้งน้ำอยู่ใต้ตีนข้า เวลาท่านประทานน้ำมนต์อาบคนใข้
สองหน่อนี้ก็มาช่วยอยู่
วรกาย...
พระวรกายมีแสงดั่งพระอาทิตย์ จิตใจงามเหมือนพระจันทร์ คิ้วโก่งเหมือนคันศร
นัยน์ตางามและคมเหมือนเหยี่ยว ผิวกายละเอียดเหมือนหยกขาว
ผมเกล้าจุกขมวดไว้บนพระเศียร เศียรมีปิ่นเพชร ปิ่นเพชรมีสีทอง พระพรหมชินนะ
ไม่ยอมอธิษฐานแปลงกายแห่งกายทิพย์ของตนให้เป็นแปดหน้าสี่กร หรือสี่หน้าแปดกร
การที่พระพรหมมีหลายๆหน้า เพราะว่าท่านมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพรหมโลก
และต้องดูแลในการจัดการที่จะมาต้านของเหล่ามาร
ที่จะมารังควานในการนั่งสมาธิของพรหม อันนี้อาจจะถามว่า
แล้วเหตุไฉนพระพรหมชินนะจึงไม่ต้องมีหลายหน้า เพราะว่าพระพรหมชินนะนั้นมีรังสีแห่งวรกายของแก้ว
7 ชั้นคลุมอยู่ จึงไม่ต้องใช้หน้ามาก เพียงแต่เปล่งรัศมีแผ่ไป
พรหมเขาก็รู้พวกมารหรืออะไรเขาก็รู้นี่พรหมองค์นี้มา ก็คือสัญลักษณ์ของท้าวมหาพรหมองค์นี้มา
ท่านจึงไม่ได้เนรมิตในร่างกายให้ผิดแปลกกว่าเขา กายนั้นเปล่งรัศมีรอบวรกายเป็นพระอาทิตย์ขาวขึ้น
ในภาวการณ์ที่เรียกว่า ถ้าพระพรหมองค์นี้ไปไหน
เทวดาเห็นเป็นพระอาทิตย์เคลื่อนที่มีรัศมี 500 เส้น
เทพพรหมจะรู้ว่าท้าวมหาพรหมชินนะมา แต่พวก
อมมนุษย์ เทพ พวกรุขเทวดาเหล่านี้ยังไม่รู้จัก เพียงแต่คิดว่า เอ๊ะ
พรหมองค์นี้มีรัศมีมากเพียงพอหนอ เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายของโลกวิญญาณนั้น เสื้อผ้าที่แต่งนั้นเป็นของทิพย์
พอใจก็นุ่งชุดนี้ตลอดกาล
ทีนี้การแต่งตัวของท้าวมหาพรหมชินนะเขาเรียกว่าแต่งแบบครึ่งกึ่งพระกึ่งพรหม คือ
ทั้งชุดที่นุ่งนั้นเป็นสีขาวบริสุทธิ์
เพราะว่ากายเนื้อทิพย์ของพระพรหมชินนะเป็นเนื้อหยกขาว
ชุดที่นุ่งนั้นก็เป็นชุดขาวละเอียด พระวรกายก็เป็นสีที่เรียกว่าขาวอย่างมีสีนวล
เปล่งรัศมีไกลถึง 500 เส้น
คฑา... มือขวาถือคทาเรียกว่า “คฑาพรหม” เป็นจามจุรีทิพย์หัวคทามีแสงพุ่งออกมาเป็นรัศมีเป็นรุ้ง
3 สี
วิมาน... วิมาน
ท่านอยู่พรหมโลกชั้นที่ 13 วิมานนั้นเนรมิตสร้างขึ้นด้วยแก้วมรกต พื้นวิมานปูด้วยทองคำบริสุทธิ์รอบในหลังคามุงด้วยเพชร
บรรทมด้วยสิงห์ ไม่มีคนใช้ไม่มีบริวาร ส่วนมากอยู่เอกเทศเพียงองค์เดียว
ไม่ชอบพูดกับใคร ไม่มีใครกล้าเหยียบวิมานโดยพลการ
พรหมเอกเทศหมายความว่า ไม่ขึ้นกับพรหมโลก
จะอยู่ในพรหมโลกก็ได้ ไม่อยู่ก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ วิมานมีหลายแห่ง
ผู้พิชิตมารทั่วพิภพ...
ท้าวมหาพรหมชินนะ ท่านเป็นพระพรหมที่มีฤทธิ์เดช
ที่เรียกว่าพญามารหรือมารทั้งหลายกลัว โลกของมารของพวกวิญญาณ ดังนั้นก็เรียกว่า
ท่านมีรูปของท้าวมหาพรหมชินนะอยู่ในบ้านก็คิดว่าอุปสรรคในการกลั่นแกล้งของ วิญญาณ
พวกที่เรียกว่ารุกขเทพก็ดี พวกอมรมนุษย์ก็ดี พวกผีเปรตอสุรกายก็ดี
คิดว่าไม่กล้าย่างกราย
ลัทธิชินโตโนะ...
ในประเทศญี่ปุ่นนับถือท้าวมหาพรหมชินนะปัญชะระมาก
เขานับเป็นพระอรหันต์ในตำราของเขา แล้วชินนะปัญจะระชินศรีเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
เพราะฉะนั้นในญี่ปุ่นเขานับถือท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระมาก แต่เขาเรียกเป็น “ชินโตโนะ” หรือ ศาสนาชินโตโนะ
คือบูชาพระอาทิตย์ ที่เขาบูชาพระอาทิตย์เพราะ
ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระก่อนจะปรากฏร่าง จะต้องเป็นแสงอาทิตย์
เรียกว่ารัศมีพุ่งเป็นรุ้ง ฉะนั้นในญี่ปุ่นเขานับถือเป็นลัทธิหนึ่ง คือ
ลัทธิชินโตโนะ
|
Image from Google |
ตำนานแห่งพระคาถาชินบัญชรอีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า
ตำนานประวัติความเป็นมาได้พบคัมภีร์ใบลานผูก
1 บอกไว้ว่าผูก 7 ใบลานกว้าง 4.5 ซม. ยาว 47 ซม. เดิมใบลานผูกนี้มี 34 หน้า
ปัจจุบันหน้าที่ 1 – 6 ขาดหายไป
คาถาชินบัญชรในใบลานผูกนี้มีด้วยกัน 15 บท ตัวคาถาคงเริ่มที่หน้าแรก จบที่หน้า 7
เพราะบรรทัดแรกของหน้า 7 เป็นปลายคาถาบทที่ 15 เริ่มด้วย “ธมมานุภาบาลโตติ //15// ชยปญจร
ปณณรสคาถานิฏฐิตา” น่าเสียดายที่ตัวคาถาชินบัญชรที่ครบทั้ง
15 บทได้หลุดหายไปกับใบลาน 6 หน้าตอนต้น
ต่อจากนั้นเป็นประวัติความเป็นมาของการแต่งคาถานี้ ณ ที่เมืองลังกา
โดยบอกถึงการแต่งคาถาว่า 8 ตัวเป็น 1 บาท 4 บาทเป็น 1 คาถา ต่อจากนั้นเป็นคาถา “อัฏฐชัยมังคละ” (พาหุง) จำนวน 8 บท
พร้อมทั้งคำอธิบายวิธีใช้ ต่อจากนั้นเป็นคาถา “สัมพุทเธ” พร้อมทั้งคำอธิบายวิธีใช้
และบอกว่าคัดลอกคาถาสัมพุทเธนี้สืบต่อมาจากสังฆราชชาวหงสา ต่อจากนั้นเป็นคาถา “พุทธคุณ” จำนวน 12 บท ต่อจากนั้นเป็นคาถาชื่อ “มัจฉราชจริยา” ต่อจากนั้นเป็นคาถาชินบัญชรอีกครั้งหนึ่ง
แต่มีเพียง 8 บทเท่านั้น
และในคัมภีร์ใบลานผูกนั้นได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคาถาชินบัญชรไว้ด้วย
คาถาชินบัญชรนั้น
ปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในลังกา เนื้อหาจากใบลานที่จารโดยพระชัยมังคละ ซึ่ง
อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม ได้ถอดความปริวรรตนั้น
กล่าวถึงปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในประเทศลังกาไว้อย่างละเอียดว่า
เริ่มจากการที่มีพระราชาของลังกาอยู่องค์หนึ่ง
ได้ถูกโหรหลวงทำนายทายทักว่าดวงชะตาของพระโอรสเมื่อมีอายุครบ 7 ปี 7 เดือน ในวันใด
ราชกุมารจักถึงฆาตด้วยถูกอัสนีบาต ในช่วงแรกๆ พระราชารู้สึกว่าเป็นเรื่องงมงาย
ไร้สาระไม่ทรงเชื่อมากนัก แต่ครั้นเมื่อพระโอรสอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7
กำลังน่ารักน่าชัง พระราชาพลันเกิดความกังวลและเริ่มกลัวคำทำนาย
เมื่อนำข้อปริวิตกไปปรึกษากับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่
ให้ช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงภยันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่พระโอรสในอีกไม่ช้า
พระมหาเถระลังกาจำนวน 14
รูปจึงได้ประชุมตกลงกันคิดหาหนทางอาราธนาพระพุทธคุณของพระอดีตพุทธ 28 พระองค์
พร้อมกับพระธรรมเจ้า 9 ประการ และบารมีธรรมของพระอรหันตสาวกที่เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ
ให้มาประมวลรวมกันทั้งหมด จนเกิดความขลังสร้างพลังในการปกป้องคุ้มภัยให้แก่ราชบุตร
จากนั้นจึงวางแผนแบ่งหน้าที่ช่วยกันรจนาคาถารูปละ
1 บทรวมเป็น 14 บท เนื่องจากสถานที่รวมตัวกันประพันธ์บทคาถานั้น
อยู่ในพระมหาปราสาทชั้นที่ 7 ของพระราชา ตั้งอยู่ใกล้กับ "ปล่องเบ็งชร"
(คูหาที่เปิดเป็นช่องหน้าต่าง) คาถานั้นในลังกาจึงมีชื่อเรียกว่า
"ชัยบัญชร" ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น "ชินบัญชร"
โดยเชื่อกันว่าเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยสมเด็จโตวัดระฆังฯ
ในเมื่อคนทั่วไปไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ จึงพยายามให้คำนิยามว่า "ชิน หรือ
ชินะ" คือชัยชนะของพระชินเจ้า (เมื่อเปรียบเทียบกับคำเดิมคือ "ชัย"
พบว่า "ชิน" มีความหมายลึกซึ้งกว่า) ส่วน "บัญชร"
ถูกตีความเป็น ซี่กรงของหน้าต่าง
อุปมาอุปไมยดั่งแผงเหล็กหรือเกราะเพชรอันแข็งแกร่งที่ช่วยปกป้องคุ้มกันภยันตรายจากศัตรูหมู่มารทั้งปวง
ถือว่าการตีความของคนรุ่นหลังนี้ล้ำลึกไม่เบา ครั้นแต่งคาถาเสร็จแล้ว
พระมหาเถระทั้ง 14 รูปได้มอบให้พระโอรสนำเอาไปท่องบ่นทุกวันจนจำให้ขึ้นใจ
กระทั่งเมื่อถึงวันครบกำหนดคือพระโอรสมีอายุ 7 ปี 7 เดือน พอดิบพอดี
ได้เกิดสายฟ้าฟาดผ่าลงมากลางกรุงลังกาอย่างรุนแรงจริงๆ แต่ไม่ตกต้ององค์พระโอรส
กลับแฉลบไปผ่าลงเอาหินก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวัง
เป็นที่ร่ำลือกันทั่วลังกา ว่าเพราะพระโอรสได้ท่องบ่นคาถา "ชัยบัญชร"
อย่างอุกฤษฏ์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั่นเอง
จึงแคล้วคลาดจากเคราะห์กรรมไปได้ราวปาฏิหาริย์
น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุปีศักราชของเหตุการณ์
รวมทั้งพระนามของกษัตริย์และพระโอรสคู่นั้น
เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าจุดเริ่มต้นของคาถาชัยบัญชรในลังกานั้นมีขึ้นยุคใด
สมัยราชวงศ์อนุราธปุระ หรือโปลนนารุวะ
ก่อนหน้าการเดินทางไปศึกษาพระธรรมของพระชัยมังคละนานมาแล้วกี่ร้อยปี แต่ที่แน่ๆ คาถานี้เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้หนักให้เป็นเบา
จากคำทำนายของโหรหลวงในราชสำนักลังกา มิได้เกิดจากพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นการเสริมพลังพุทธคุณให้ยิ่งใหญ่
ก่อเกิดคุณานุภาพแก่ผู้สวดภาวนา จึงอัญเชิญพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า 80
องค์ซึ่งเป็นผู้มีบารมีธรรมยิ่งใหญ่ ตลอดทั้งอาราธนาพระสูตรอันศักดิ์สิทธิ์
ที่มีอานุภาพในด้านต่างๆ มาสถิตทุกส่วนของร่างกาย
รวมกันสอดคล้องเป็นกำแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมจอมขวัญลงมา
ห้อมล้อมรอบตัวของผู้สวดภาวนาพระคาถา จนกระทั่งหาช่องโหว่ให้อันตรายสอดแทรกมิได้
|
Image from itti patihan.com |
บทสวดแห่งพระคาถาชินบัญชร
เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้นก่อนเจริญภาวนาชินบัญชร
(ตั้งนะโม 3 จบ) ก่อน แล้วระลึกถึง
เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พร้อมว่าดังนี้
ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะ
ญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา
ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มรณังสุขัง
อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย
ปิวิงสุ นะราสะภา
ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา
มัยหัง มัตถะเก เต
มุนิสสะรา
สีเส ปะติฏฐิโต
มัยหัง พุทโธ ธัมโม
ทวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต
มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
หะทะเย เม
อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ
ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก
ทักขิเณ สะวะเน
มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก
เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภีโต มุนิ
ปุงคะโว
กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน
นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละกา
มะมะ
เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชินโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
ระตะนัง ปุระโต
อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต
อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง
อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
ชินา นานาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
อะเสสา วินะยัง
ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะเสโต เม
สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ
มัง สัพเพ เต
มะหาปุริสา สะภา
อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ ฯ
พระคาถาชินบัญชร(ย่อ)
ชินะปัญชระปะริตตัง มัง รักขะตุ
สัพพะทา
หัวใจพระคาถาชินบัญชร
ชะ จะ ตะ สะ สี สัง หะ โก ทะ กะ เก
นิ กุ โส ปุ เถ เส เอ ชะ ระ ธะ ขะ อา ชิ วา อะ วะ ชิ สะ อิ ตัง ฯ
|
Image from Google |
คำแปลพระคาถาชินบัญชร
พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย
ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์
ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว ได้เสวยอมตรสคือ
อริยสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
มียี่สิบแปดพระองค์
คือพระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกร เป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนี ทั้งหมดนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง
พระสงฆ์องค์บ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวงอยู่ที่อุระ
พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ
พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย
พระอัญญาโกณ-ฑัญญะอยู่เบื้องหลัง
พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา
พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
มุนีผู้ประเสริฐ
คือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขนดลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
พระเถระกุมาระกัสสะปะ
ผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ
มีวาทะอันวิจิตรไพเราะจงมาประดิษฐานอยู่ที่ปากแห่งข้าพเจ้าเป็นเนืองนิตย์
พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี
พระนันทะ และพระสีวะลี พระเถระทั้งห้านี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือ
ผู้มีชัยและเป็นพระโอรส เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย
แต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีล ให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า
พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย
พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
พระขันธปริตร ประโมรปริตร
และพระอาฏานิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
อนึ่ง
พระชินเจ้าทั้งหลายนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด
มีศิลาทิคุณอันมั่นคง คือสัตตะปราการ
เป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า
ไม่ว่าจะทำกิจการใด ๆ
เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในบัญชรแวดวงกงล้อมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายในอันเกิดแต่โรคร้าย คือโรคลมและโรคดี เป็นต้น
เป็นสมุฎฐาน จงกำจัดให้พินาศสิ้น
ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น
จงอภิบาล ข้าพระพุทธเจ้าผู้อยู่ในภาคพื้นท่ามกลางพระชินบัญชร
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม
จึงชนะอุปัทวันตรายใด ๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า
ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์
ขอข้าพระพุทธเจ้า จงได้ปฏิบัติ รักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญ ฯ
|
Image from Google |
สาธุ